เที่ยว สงขลา - เกาะยอ, "เกาะยอ" มากของดี อวลเสน่ห์วิถีชาวใต้
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
W3Schools.com
สมาชิกที่จะติดตั้งโปรแกรม
สะพายกล้องท่องเที่ยว

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ผู้เขียน : Admin™
เที่ยว สงขลา - เกาะยอ, "เกาะยอ" มากของดี อวลเสน่ห์วิถีชาวใต้







                   ขนำกลางทะเล ที่พักของเกาะยอโฮมสเตย์

"สมเด็จเจ้าเป็นศรี ผ้าทอดีล้ำค่า นานาผลไม้หวาน ถิ่นอาหารทะเล เสน่ห์สะพานติณฯ สถาบันทักษิณลือนาม งดงามเรือนทรงไทย" นี่คือคำขวัญของเกาะยอ เกาะมากเสน่ห์ แห่งทะเลสาบสงขลาตอนล่าง

จากตามคำขวัญนี้แสดงให้เห็นว่าที่เกาะยอ ต.เกาะยอ จ.สงขลา แห่งนี้มีของดีที่เชิดหน้าชูตาอยู่หลายอย่าง เพราะว่าเกาะยอมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และชาวชุมชนเกาะยอนั้นก็มีศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และมีวิถีชีวิตของชาวใต้ที่งดงาม อันสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน จนก่อให้เกิดเป็นของดีที่น่าท่องเที่ยวบนเกาะยอมากมาย



สะพานติณสูลานนท์ ที่เชื่อมเกาะยอกับแผ่นดิน


นิตย์ พงศ์พฤกษ์ กรรมการและเลขานุการการท่องเที่ยวเกาะยอ กล่าวถึงเกาะยอว่า ตำบลเกาะยอเป็นตำบลหนึ่งที่มีชื่อเสียงทางด้านการท่องเที่ยว ซึ่งที่บ้านนอก หมู่ที่ 3 ต.เกาะยอ จ.สงขลา นั้นได้รับรางวัลหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP Village Champion (OVC) ปี 2549 พร้อมกับบอกต่อว่าเกาะยอมีของดีอยู่ 3 ภูมิ ซึ่งภูมิแปลว่า แผ่นดิน แปลว่าสิ่งที่มีค่า ภูมิที่ 1 นั้นเกาะยอมีภูมิทัศน์ที่สวยงามเป็นเกาะที่มีทั้งภูเขา ที่ราบ แหลม อ่าว ซึ่งเป็นลักษณะที่โดดเด่นกว่าตำบลอื่นๆ และมีสะพานติณสูลานนท์ เชื่อมระหว่างเกาะยอกับตำบลใกล้เคียงอันก่อให้เกิดมีทิวทัศน์ที่สวยงาม


ความงดงามของกุฏิเรือนไทยโบราณที่วัดท้ายยอ

ภูมิที่ 2 คือมีทรัพยากรที่มีคุณค่า ถึงแม้ว่าจะเป็นเกาะแต่ก็มีน้ำจืดสนิท มีแผ่นดินที่เรียกว่าดินดำน้ำชุ่ม ทำให้มีผลไม้หวาน ถือว่าเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า และมีกุ้ง ปลา อาหารที่สมบูรณ์มากๆ มีการเลี้ยงปลากะพงในกระชัง สร้างรายได้ให้กับเกาะยอเป็นอย่างมาก ส่วนภูมิที่ 3 เรียกว่าภูมิปัญญาชาวบ้าน นั่นคือมีการทอผ้าเกาะยอที่ยาวนาน 200 กว่าปี ถือว่าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีค่า เป็นภูมิเป็นทรัพย์ที่บรรพบุรุษได้สร้างสมมา ให้กับชาวเกาะยอได้นำเอาภูมิปัญญาเหล่านี้มาประกอบอาชีพแบบพออยู่พอกิน ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง


เจดีย์ทรงระฆังตั้งอยู่ที่เขาเพหาร วัดท้ายยอ

"ในส่วนการท่องเที่ยว เราใช้ของดีที่มีค่ามาเป็นจุดท่องเที่ยว เช่นว่าเรามีผ้าทอ ก็เอาจุดผ้าทอเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีสวนไม้ผลก็ให้เป็นจุดท่องเที่ยวไม้ผล ในทะเลมีการเลี้ยงปลากะพงมาก เราก็พาไปชมการเลี้ยงปลากะพง ถือว่าเราเอาของดีที่อยู่แล้วเป็นจุดท่องเที่ยว เป็นการบริหารการจัดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน เพราะว่าเอาของดีที่มีอยู่เป็นทุนทางสังคม เราไม่ได้เอาของอื่น เอาของแท้ๆ ที่มีอยู่เป็นจุดท่องเที่ยวของเรา อย่างที่เรียกว่าเป็นการเอาภูมิของดี เอาทุนทางสังคมที่เรามีอยู่มาเป็นจุดท่องเที่ยว"นิตย์ อธิบาย


"เจดีย์สมเด็จเจ้าเกาะยอ"ที่วัดเขากุฏ ศูนย์รวมจิตใจของชาวเกาะยอ

สำหรับแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นของดีของเกาะยอนั้นมีให้เที่ยวมากมาย สถานที่ท่องเที่ยวที่แรกถ้ามาที่เกาะยอแล้วต้องไม่พลาดไปกันก็คือ "วัดเขากุฏ" ที่ตั้งอยู่บนยอดเขากุฏซึ่งเป็นจุดที่สูงที่สุดของเกาะยอ ด้านบนเขามีโบราณสถานที่สำคัญคือ "เจดีย์สมเด็จเจ้าเกาะยอ" ตั้งอยู่ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์รวมจิตใจและความศรัทธาของชาวเกาะยอ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปีจะมีงานห่มผ้าเจดีย์เพื่อนมัสการสมเด็จเจ้าเกาะยอ และเมื่อขึ้นมาสักการะสมเด็จเจ้าเกาะยอขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองแล้ว ก็ยังสามารถชมวิวทิวทัศน์ของสงขลาที่ว่าเมืองใหญ่ 2 ทะเล คือทะเลในหมายถึงทะเลสาบ และทะเลนอกหมายถึงทะเลอ่าวไทยอันสวยงาม


พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา จัดแสดงศิลปวัฒนธรรมของภาคใต้

ลงจากเขากุฏก็ตรงมาเที่ยวที่ "พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา สถาบันทักษิณคดีศึกษา" เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงวิถีชีวิตของชาวใต้ วัฒนธรรมพื้นบ้าน ท้องถิ่นอันมีเอกลักษณ์เฉพาะ ประวัติศาสตร์โบราณคดี และศิลปหัตถกรรมอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ที่แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในภาคใต้ของประเทศไทย โดยจัดแสดงเป็นห้องต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจ อาทิ ห้องประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ ห้องอาชีพหลักของชาวใต้ ห้องผ้าทอพื้นเมืองที่มีผ้าทอสวยๆ ห้องการละเล่นพื้นเมือง ห้องศิลปะหัตกรรม ห้องอิสลามศึกษา ฯลฯ เมื่อมาเที่ยวแล้วจะได้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลินกลับไป อีกทั้งที่นี่ยังเป็นจุดชมวิวทิวทัศน์ของเกาะยออันงดงาม และมองเห็นสะพานติณสูลานนท์ ที่สวยงามอันเชื่อมเกาะยอกับฝั่งแผ่นดิน


ภายในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านเกาะยอจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้โบราณ

มาต่อเนื่องอารมณ์การชมพิพิธภัณฑ์กันต่อที่ "พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านเกาะยอ" ที่ตั้งอยู่ภายในโรงเรียนวัดท้ายยอ เป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ที่ภายในจัดแสดงความเป็นมาของชาวเกาะยอ มีโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และสิ่งของเครื่องใช้ที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านเกาะยอไว้ อาทิ หม้อ โอ่งอ่าง กระเบื้องโบราณ ตะเกียงเจ้าพายุ อาวุธโบราณ เป็นต้น มาเที่ยวที่นี่แล้วก็จะได้รู้จักเกาะยอมากขึ้น

จากนั้นเดินทางมาเที่ยวที่ "วัดท้ายยอ" ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ของเกาะยอ ที่มีโบราณสถานอันเป็นสถาปัตยกรรมอันล้ำค่าให้ชมกัน นั่นคือ "กุฏิเรือนไทยปั้นหยา" ที่มีอายุกว่า 200 ปี มีอยู่ด้วยกัน 3 หลัง กุฏิเรือนไทยสร้างด้วยไม้งดงามอย่างมาก และมีเอกลักษณ์ตรงที่ใช้กระเบื้องดินเผาเกาะยอ และที่เสาเรือนกุฏิจะไม่ฝังลงในดินแต่จะตั้งอยู่บนตีนเสา ซึ่งเป็นที่รองรับเสาอันเป็นลักษณะเฉพาะของบ้านชาวไทยในภาคใต้เท่านั้น และด้านหลังของวัดท้ายยอ ยังเป็นที่ตั้งของเขาเพหาร ที่ด้านบนเป็นที่ประดิษฐานเจดีย์ทรงระฆังก่ออิฐถือปูนมีลวดลายปูนปั้นประดับอันเป็นฝ
ีมือช่างท้องถิ่นภาคใต้ที่มีความงดงามเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งภายในวัดยังมีบ่อน้ำโบราณ สระน้ำโบราณ โรงเรือพระ สถูปหอระฆังที่สวยงาม


การกู้ไซกุ้งอาชีพของชาวปะมงที่เกาะยอ

และหลังจากได้เที่ยวสถานที่ทางบกกันแล้ว ก็ไปเที่ยวทางน้ำกันบ้างไปเที่ยวชมวิถีชีวิตการทำอาชีพประมงของชาวเกาะยอ ที่ "เกาะยอโฮมสเตย์" ของลุงเดชา มีสุวรรณ ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตประมงพื้นบ้านของชาวเกาะยอ โดยการพานั่งเรือออกไปชมความสวยงามของทะเลสาบสงขลา ไปดูการทำประมง การกู้ไซกุ้ง การเลี้ยงปลา และมีกิจกรรมตกปลาด้วย และถ้าใครอยากสัมผัสชีวิตชาวประมงแบบเต็มอิ่ม ก็มีขนำกลางทะเลบริการให้ได้พักค้างคืนกันด้วย


จำปาดะขนุน ผลไม้ขึ้นชื่อของเกาะยอ

พอขึ้นมาบนฝั่งก็ไปเข้าสวนไปดูการทำเกษตรของชาวเกาะยอกันที่ "สวนสมรม" เป็นของลุงไพจิตร ปริศวงศ์ สวนสมรมเป็นภาษาถิ่นใต้ หมายถึง สวนที่ปลูกพืชหลายชนิดในพื้นที่เดียวกัน สวยสมรมของลุงไพจิตรมีพื้นที่กว่า 24 ไร่ ปลูกผลไม้ที่ขึ้นชื่อหลายอย่าง อาทิ จำปาดะขนุน (คือการนำเอาสายพันธุ์ของจำปาดะและขนุนมาผสมกัน ออกมาเป็นจำปาดะขนุนที่เนื้อนิ่ม รสชาติหวาน กลิ่นหอมไม่แรงมาก) เงาะ ทุเรียน ลองกอง กระท้อน มังคุด พืชผักอย่างสะตอ ลูกเนียง และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งที่นี่เน้นการปลูกโดยใช้ปุ๋ยชีวภาพแบบเกษตรธรรมชาติมีการให้ความรู้เกี่ยวกับการ
ทำเกษตรชีวภาพ และยังมีผลไม้อร่อยๆ ให้ได้ชิมกันด้วย


การทอผ้าทอเกาะยอ ภูมิปัญญาที่ชาวเกาะยอสืบทอดกันมานาน

อีกแหล่งท่องเที่ยวที่ถ้ามาเกาะยอแล้วไม่มาชมเห็นจะไม่ได้นั่นก็คือ การไปดูการทอผ้าทอเกาะยอที่มีชื่อเสียงกันที่ "กลุ่มราชวัตถ์ แสงส่องหล้า" ที่นี่ชาวบ้านได้รวมตัวกันขึ้น เพื่ออนุรักษ์และสืบสานการทอผ้าพื้นเมืองของชาวเกาะยอ ซึ่งถือเป็นงานหัตถกรรมที่สั่งสมภูมิปัญญาการทอผ้ากันมาจากบรรพบุรุษอย่างยาวนาน และกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์อันโดดเด่น ผ้าทอเกาะยอมีความประณีตในการทอ และมีลวดลายที่สวยงาม มีลายที่ชื่อว่า ราชวัตร เป็นลายดอกที่มีต้นกำเนิดจากเกาะยอและเป็นลายนิยมของผ้าทอเมืองใต้ เพราะเป็นลายที่ได้รับพระราชทานนามจากรัชกาลที่ 7 นอกจากยังมีลายอื่นๆ อีกมาก อาทิ ลายลูกแก้ว ลายดอกพิกุล ลายดอกพะยอม ให้ทุกคนได้เลือกซื้อหาเป็นของฝากติดไม้ติดมือกลับไปยามที่ได้มาเที่ยวที่ "เกาะยอ" เกาะที่มากมายไปด้วยของดีของชาวใต้

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

นักท่องเที่ยวที่สนใจมาเที่ยวที่หมู่บ้าน OVC บ้านนอก ต.เกาะยอ จ.สงขลา สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่คุณนิตย์ พงศ์พฤกษ์ โทร. 08-1096-2087 หรือ คุณวิชัย มาระเสนา โทร. 08-6291-7853 และถ้าสนใจพักขนำกลางทะเล ติดต่อได้ที่เกาะยอโฮมสเตย์ คุณเดชา มีสุวรรณ โทร. 08-7633-5476, 0-7445-0390

การเดินทางไปเกาะยอโดยทางน้ำมีเรือโดยสารระหว่าง ตลาดสดสงขลา-เกาะยอ หากเดินทางโดยรถยนต์ไปตามทางสายสงขลา- หาดใหญ่ แล้วแยกขวาที่สี่แยกบ้านน้ำกระจายข้ามสะพานติณสูลานนท์ ก็ไปถึงยังเกาะยอได้อีกทางหนึ่ง


ที่มา ขออภัย! คุณไม่สามารถเห็นลิ้งค์ที่โพสต์นี้ได้ กรุณาสมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ
ขอบคุณ  ผู้จัดการออนไลน์

ลิ้งค์หัวข้อ: บ้านหรรษา ดอมคอม/topic/444

LikePost โดย 0 สมาชิก :